วิศวกรซ่อมบำรุง หมายถึง การประยุกต์ใช้หลักการทางวิศวกรรมศาสตร์และตรรกะ เพื่อแก้ปัญหาและดูแลรักษาสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างของอาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรซ่อมบำรุงมีบทบาทอย่างมาก ในการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง วิศวกรซ่อมบำรุงทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการผลิต และดูแลอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงควบคุมงบประมาณ และดูแลเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมายด้วย
ปัจจุบันวิศวกรซ่อมบำรุงมีความสำคัญต่อการป้องกันและลดปัญหาเครื่องจักรชำรุดเสียหาย โดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิตจะเกิดความสูญเสียหลายประการ อาทิ ค่าล่วงเวลา เวลา ของเสีย และความสูญเสียโอกาสการแข่งขันที่มีสาเหตุหลักจากการขาดวิศวกรซ่อมบำรุงที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาปัจจัยและประเมินผลกระทบการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง เพื่อลดความสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
หากปราศจากวิศวกรซ่อมบำรุง และแผนการบำรุงรักษาแล้วความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุเครื่องจักรขัดข้องและค่าใช้จ่ายการถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนจะสูงมาก ซึ่งการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลควรคำนึงถึงความเหมาะสมด้วยการจัดทำแผนเพื่อลดความสูญเสียและยืดอายุการใช้งานเครื่องจักร หลายทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทฝ่ายวิศวกรซ่อมบำรุงถูกมองว่าเป็นศูนย์ต้นทุน (Cost Center) โดยมุ่งดูแลเครื่องจักรให้สามารถใช้งานด้วยต้นทุนต่ำสุด แต่แนวโน้มอุตสาหกรรมได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่มุ่งใช้แรงงานสู่ความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ดังนั้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบำรุงรักษาไม่เพียงแค่ศูนย์ต้นทุนแต่ได้กลายเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน โดยเฉพาะฝ่ายบำรุงรักษาจะรับผิดชอบการวางแผน เช่น การจัดทำแผนกำหนดการและปฏิบัติตามใบสั่งงานให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด งานดังกล่าวครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) รวมถึงงานแก้ไขที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายผลิตและวิศวกรรม ดังนั้นการวางแผนจะมุ่งประเด็นการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่องานซ่อมบำรุงให้เสร็จภายในกำหนดการด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดการในแผนบำรุงรักษาควรตอบคำถามสำคัญ อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงานประกอบด้วยงานอะไรบ้าง งานอะไรที่มีความสำคัญสูงสุด เครื่องจักรมีความพร้อมเดินเครื่องเมื่อไหร่และทรัพยากรหรือระบบสนับสนุนการผลิตมีความพร้อมเมื่อไหร่ ดังนั้น วิศวกรซ่อมบำรุงย่อมมีความสำคัญ
จุดมุ่งหมายของวิศวกรซ่อมบำรุง
- เพื่อให้เครื่องมือใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล (Effectiveness) คือ สามารใช้เครื่องมือเครื่องใช้ได้เต็มความสามารถและตรงกับวัตถุประสงค์ที่จัดหามามากที่สุด
- เพื่อให้เครื่องมือเครื่องใช้มีสมรรถนะการทำงานสูง (Performance) และช่วยให้เครื่องมือเครื่องใช้มีอายุการใช้งานยาวนาน เพราะเมื่อเครื่องมือได้ใช้งานไประยะเวลาหนึ่งจะเกิดการสึกหรอ ถ้าหากไม่มีการปรับแต่งหรือซ่อมแซมแล้ว เครื่องมืออาจเกิดการขัดข้อง ชำรุดเสียหายหรือ ทำงานผิดพลาด
- เพื่อให้เครื่องมือเครื่องใช้มีความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือ (Reliability) คือ การทำให้เครื่องมือเครื่องใช้มีมาตรฐาน ไม่มีความคลาดเคลื่อนใด ๆ เกิดขึ้น
- เพื่อความปลอดภัย (Safety) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญ เครื่องมือเครื่องใช้จะต้องมีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้ใช้งาน ถ้าเครื่องมือเครื่องใช้ทำงานผิดพลาด ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บต่อผู้ใช้งานได้ การบำรุงรักษาที่ดีจะช่วยควบคุมการผิดพลาด
- เพื่อลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อม เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุดเสียหาย เก่าแก่ ขาดการบำรุงรักษา จะทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มีฝุ่นละอองหรือไอของสารเคมีออกมา มีเสียงดัง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อประหยัดพลังงาน เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนมากจะทำงานได้ต้องอาศัยพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ถ้าหากเครื่องมือเครื่องใช้ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดี เดินราบเรียบไม่มีการรั่วไหลของน้ำมัน การเผาไหม้สมบูรณ์ ก็จะสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้
เนื่องจากการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือให้เครื่องจักรที่มุ่งรักษาสภาพเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานด้วยการดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาก่อนจะเกิดเหตุขัดข้อง โดยเฉพาะ การบำรุงรักษาประจำวัน การปรับแต่งเครื่อง การตรวจเช็คและถอดเปลี่ยนอะไหล่ตามรอบเวลา การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานที่มุ่งความปลอดภัยและการป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก ซึ่งการประเมินประสิทธิผลการบำรุงรักษาเชิงป้องกันจะใช้ตัวชี้วัดความสูญเสียกำลังการผลิตและการหยุดเดินเครื่องจักรที่ไม่มีในแผน